
วัดเกรินตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2468 แต่หากพิจารณาลักษณะอุโบสถสภาพก่อนการปฏิสังขรณ์ซึ่งเป็นแบบมหาอุดและพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน พออนุมานได้ว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อุโบสถปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2547 เนื่องจากชำรุดทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงกะเทาะปูนเก่าออก แต่ยังคงโครงสร้างและฐานรากเดิมไว้ ใต้ฐานอุโบสถมีท่อนซุงไม้สักเรียงรายรองรับอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างอาคารบนพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ส่วนพระประธานในอุโบสถเดิมปรากฏรอยคมเลื่อยปาดพระศอไปครึ่งหนึ่ง ทางวัดจึงบูรณะและปิดทองใหม่ทั้งองค์ หลังจากปฏิสังขรณ์อุโบสถแล้วเสร็จ ช่างหนุ่มสาวซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่างได้เขียนจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติไว้บนผนังภายในโดยรอบ
ศาลาการเปรียญซึ่งเดิมตั้งอยู่กลางลานวัด เป็นอาคารไม้โถงยกพื้นสูง แต่ตัวอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2548 โดยตัดเสาส่วนที่ผุแล้วดีดขึ้นโดยย้ายมาตั้งที่ด้านข้างของลานวัด ยังมีกุฏิซึ่งเดิมสร้างเป็นแบบหมู่เรือนไทยภาคกลางตามประเพณีนิยม กุฏิของท่านพระครูนั้นแยกออกไปต่างหาก เคยพบซากของฐานเจดีย์หลายองค์บรรจุอัฐิเมื่อครั้งปรับพื้นที่ก่อสร้างกุฏิ ต่อมาได้ย้ายอัฐิเหล่านั้นไปบรรจุไว้ใต้ฐานพระประธานในศาลาการเปรียญ